ลำโพงประเภทต่างๆ กับการตอบสนองความถี่

ความถี่ ส่วนประกอบสำคัญในการฟังดนตรี ครั้งนี้เราจะมากล่าวถึง ประเภทของลำโพง กับการตอบสนองความถี่ ซึ่งนำมาอ้างอิงในการเซทชุดลำโพง และนำมาใช้งานเพื่อฟังดนตรีแนวต่างๆ ได้อย่างมีทิศทางมากขึ้น


ประเภทลำโพง
คงจะพอจำกันได้ กับลำโพงประเภทต่างๆ และวัสดุกรวย ที่เคยนำเสนอกันไปแล้ว ครั้งนี้ผมจะอธิบายเป็นยูนิท โดยคำนึงถึงขนาด และการใช้งานของดอกลำโพงเป็นหลัก

ทวีเตอร์ : ลำโพงเสียงแหลม มีขนาด 3/4″ - 2″ ออกแบบมาให้ตอบสนองความถี่สูง ขึ้นได้ถึง 20,000 Hz บางค่ายตอบสนองได้มากกว่านั้น ที่สำคัญ คือ แต่ละค่ายจะผลิตให้ทวีเตอร์ตอบสนองความถี่ได้ช่วงกว้าง คือ ลงในเสียงกลางได้มากขึ้น เช่น 1,500 - 20,000 Hz ข้อควรระวัง หากปล่อยความถี่เสียงกลางต่ำเข้าไปในทวีเตอร์ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้

มิดเรนจ์ : ลำโพงเสียงกลาง มีขนาด 3″ - 4″ ออกแบบมาให้ตอบสนองความถี่กลาง อีกทั้งขึ้นได้ในความถี่เสียงแหลม แต่รายละเอียดของเสียงน้อยกว่าทวีเตอร์ เช่นกัน แต่ละค่ายออกแบบให้ตอบสนองความถี่ในช่วงกว้าง เช่น 500-10,000 Hz ข้อควรระวัง หากปล่อยความถี่เสียงเบสส์เข้าไปในลำโพงมิดเรนจ์ อาจเกิดความเสียหาย หากปล่อยความถี่เสียงแหลมเข้าไปก็จะผิดเพี้ยนได้

มิดเบสส์ : ลำโพงเสียงกลาง/เบสส์ 4″ - 6 1/2″ ตอบสนองความถี่ในช่วงเสียงเบสส์สูงถึงเสียงกลาง โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 200 - 8,000 Hz ข้อควรระวัง หากปล่อยความถี่เสียงเบสส์เข้าไป อาจทำให้ลำโพงเสียหาย และไม่ควรปล่อยความถี่เสียงแหลมเข้าไป

วูเฟอร์ : ลำโพงเสียงกลาง/เบสส์ 5″ - 8″ ตอบสนองความถี่ในช่วงเดียวกับลำโพงมิดเบสส์ แต่ออกแบบมาให้ลงได้ลึกกว่าประมาณ 50 - 5,000 Hz ข้อควรระวังหากปล่อยความถี่เสียงเบสส์ลึกๆ เข้าไป อาจทำให้ลำโพงเสียหาย และไม่ควรปล่อยความถี่เสียงแหลมเข้าไป

ซับวูเฟอร์ : ลำโพงสำหรับเสียงเบสส์โดยเฉพาะ มีขนาด 8″ - 15″ สามารถลงได้ลึกที่ความถี่ต่ำๆ 20 - 2,000 Hz ทนวัตต์ได้สูง และควรติดตั้งในตู้สูตร ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยความถี่เสียงกลาง และเสียงแหลมเข้าไป เพราะจะเกิดความผิดเพี้ยนได้

หมายเหตุ : ค่าความถี่ของลำโพงแต่ละประเภท เป็นตัวเลขอ้างอิง ขึ้นอยู่กับการออกแบบ วัสดุที่ใช้ และขนาดของกรวยลำโพงเป็นสำคัญ ให้ดูจากแมนวลซึ่งทดสอบแล้วจากโรงงานผู้ผลิต

การตัดความถี่
ลำโพงเสียงกลาง/แหลม ที่รู้จักกันดี คือ ประเภท แยกชิ้น/โคแอกเซียล 2 ทาง จะประกอบด้วยชุดลำโพง มิดเรนจ์/มิดเบสส์/วูเฟอร์ กับทวีเตอร์ มีตัวตัดความถี่เป็นพาสสีฟ ครอสส์โอเวอร์ จุดตัดความถี่กลาง/แหลมของแต่ละค่าย จะไม่เท่ากัน เช่น 2,500/3,000/3,500/4,000/4,500/5,000 Hz เพื่อให้ช่วงความถี่แบ่งไปอยู่ที่ตัวทวีเตอร์ หรือตัวเสียงกลาง/เบสส์มากกว่ากัน ที่สำคัญ ไม่ควรให้ลำโพงเสียงกลาง/เบสส์ทำงานในช่วงความถี่ต่ำมากๆ เพราะอาจเกิดความเสียหายได้ โดยทั่วไปตัดที่ 100 - 250 Hz

ลำโพงเสียงเบสส์ หรือซับวูเฟอร์ สามารถปล่อยความถี่ต่ำได้สุด ส่วนด้านบนควรตัดได้สอดคล้องกับลำโพงกลาง/เบสส์ เช่น 100/150/200/250 HZ เพื่อให้ความถี่ไปรับกันพอดี ดนตรีในช่วงนั้นก็จะไม่ขาดหายไป

ลำโพงแยกชิ้น/โคแอกเซียล 3 ทาง ประกอบด้วย วูเฟอร์/มิดเรนจ์/ทวีเตอร์ ในปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นกัน กล่าวง่ายๆ ก็เหมือนลำโพงแยกชิ้น 2 ทาง ที่มีซับวูเฟอร์เพิ่มมาให้ด้วย แต่มีขนาด 6″ - 8″ และ 6″x9″ เท่านั้น จึงลงได้ไม่ลึกเท่ากับซับวูเฟอร์ และอัดเล่นได้ไม่เต็มที่มากนัก

การตัดความถี่แบบ QUAD-AMPS หรือ 4 ช่วงความถี่ จะใช้ลำโพงซับวูเฟอร์/มิดเบสส์/มิดเรนจ์/ทวีเตอร์ เพื่อตอบสนองความถี่ในแต่ละช่วง แม้จะเป็นระบบที่ยาก แต่หากเลือกความถี่ได้เหมาะสม ก็ให้อรรถรสได้อย่างดี เช่นตัดความถี่ที่ 200/1,250/6,300 Hz

หมายเหตุ : การเลือกจุดตัดความถี่ ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการตอบสนองความถี่ของลำโพงแต่ละประเภท เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงสูงสุด และไม่เกิดความเสียหายกับดอกลำโพง

ประเภทเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีนั้นมีหลายประเภท โดยเฉพาะวงดนตรีประเภทออร์เคสตรา หรือแนวดนตรีคลาสสิคต่างๆ ซึ่งมีเครื่องเป่าหลายประเภท ส่วนดนตรีสากลทั่วไป เครื่องดีด เครื่องตี และอุปกรณ์อีเลคทรอนิค แต่ที่จะกล่าวถึงเป็นชิ้นดนตรีหลักๆ 4 ชิ้น คือ กีตาร์ เบสส์ กลอง คีย์บอร์ด รวมถึงเสียงร้อง ประกอบในแนวดนตรีที่ฟังกันอยู่ทั่วไป

กีตาร์ : เครื่องดีดสุดฮิต มี 6 สาย 18/20/21/22/24 เฟรท สายแต่ละเส้น เฟรทแต่ละช่องให้ความถี่ไม่เท่ากัน ใช้เป็นริธึม คอร์ด และโซโล เล่นเป็นตัวโนทมีความถี่ประมาณ 160 - 4,000 Hz จับคอร์ดมีความถี่ประมาณ 80 - 2,500 Hz โดยการใส่เอฟเฟคท์ไม่ทำให้ความถี่เปลี่ยนแปลง ยกเว้น ตัวเพิ่ม/ลดออคเทฟเสียง

เบสส์ : เครื่องดีดเสริมจังหวะ และทำให้ริธึมมีสีสันมากขึ้น เดิมทีมี 4 สาย ปัจจุบันมี 5/6 สายออกมา จำนวนเฟรทเหมือนกับกีตาร์ แต่สายมีขนาดใหญ่กว่า ให้ความถี่ในช่วง 40 - 1,250 Hz (เบสส์ 4 สาย)

คีย์บอร์ด : เครื่องกดที่สร้างสีสันได้หลากหลาย เพราะนำเสียงต่างๆ บันทึกเข้าไปได้มากมาย ตั้งแต่เพียโน ซินเธไซเซอร์ เสียงกลอง และเสียงแปลกๆ ต่างๆ อย่างเสียงสัตว์ ให้ความถี่ในช่วง 63 - 3,150 Hz (61 คีย์ มาตรฐาน) การปรับเป็นเสียงต่างๆ ไม่ทำให้ความถี่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นตัวปรับยก หรือลดเสียง

กลอง : เครื่องตีควบคุมจังหวะ เป็นหัวใจหลักของดนตรี และความถี่ โดยกลองชุดมาตรฐาน 5 ใบ ประกอบด้วย สแนร์, ทอม 2 ใบ, บาเรลดรัม, คิคดรัม, ไฮ-แฮทส์ และแฉ ให้ความถี่ในช่วง 40 - 16,000 Hz ความถี่หลักเป็นสแนร์ 160 - 630 Hz คิคดรัม 40 - 100 Hz ไฮ-แฮทส์ 14″ 4,000 - 16,000 Hz แฉ 16″ 400 - 3,150 Hz (อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับรุ่นกลอง และขนาดของอุปกรณ์แต่ละชิ้น)

เสียงร้อง : แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ เสียงร้องต่ำมีความถี่ประมาณ 250 - 500 Hz เสียงร้องกลางที่เป็นเสียงร้องทั่วไปมีความถี่ประมาณ 630 - 1,000 Hz และเสียงร้องสูงมีความถี่ประมาณ 2,000 - 4,000 Hz

แนวดนตรี กับความถี่
ปัจจุบันการจำแนกแนวดนตรี แตกย่อยไปหลากหลาย แต่ขอยกตัวอย่างแนวหลักๆ ดังนี้

ร็อค : เน้นความหนักหน่วงทุกเสียง ทั้งเบสส์ กลอง โซโล เสียงร้อง บูลส์ : เน้นรีธึม เบสส์ และเสียงร้อง แจซซ์ : เน้นความกลมกลืนกันทุกชิ้น และโชว์แต่ละชิ้น พอพ : ฟังสบาย เน้นเสียงร้องเป็นหลัก แดนซ์ : มีจังหวะหนักต่อเนื่องไปเรื่อย กับซาวน์ดแปลก

คลาสสิค : เน้นการถ่ายทอดที่เป็นธรรมชาติ ทั้งเครื่องสี หรือเพียโน ฮิพฮอพ : มีจังหวะกระชับ เน้นเสียงร้องต่อเนื่อง

ดังนั้นหากต้องการทราบว่า ดนตรีประเภทใดให้ความถี่ในช่วงใด พิจารณาได้จากเครื่องดนตรีที่ใช้ และเสียงร้อง ซึ่งโดยทั่วไปครอบคลุมช่วงความถี่ 40 - 16,000 Hz แต่ที่สำคัญต้องทราบถึงเครื่องดนตรีหลักในแต่ละแนว เพื่อเลือกชุดลำโพงให้ตอบสนอง และปรับแต่งเสียงได้ตรงจุด ก็จะได้รายละเอียดที่สมจริง และครบถ้วน

บทสรุป
เครื่องดนตรีเป็นแหล่งกำเนิดความถี่ ส่วนชุดลำโพงเป็นตัวตอบสนองความถี่ การเลือกให้แมทชิงกันเป็นเรื่องยาก แต่การออกแบบระบบเสียง ให้ครอบคลุมช่วงความถี่เป็นเรื่องที่ง่ายกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับระบบ คือ ช่วงการตอบสนองและจุดตัดความถี่ ที่ไม่ทำให้ชิ้นดนตรีหลักขาดหาย ส่วนประสิทธิภาพลำโพงจะช่วยให้ได้รายละเอียด และมีอรรถรสมากขึ้น

ที่มา : autoinfo.co.th
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า