ยางกับเรื่องที่คุณไม่รู้ ตัวเลขที่แก้มยางบอกอะไร


ยางรถยนต์เป็นอุปกรณ์สำคัญในลำดับต้นๆ ของการใช้งานรถยนต์ ปัจจุบัน ยางรถยนต์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะพัฒนาไปขนาดไหนรูปทรงของมันก็ยังคงเหมือนเดิม ลองสังเกตยางติดรถของคุณว่าตัวเลขและสัญลักษณ์บนแก้มยางนั้นบ่งบอกอะไรบ้าง




ยี่ห้อ
ตัวอักษรบอกยี่ห้อของยางและรุ่นของยางเส้นนั้นๆ มักมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจน




รุ่น
ถัดจากยี่ห้อก็จะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษบอกรุ่น มักมีขนาดใหญ่พอๆกับยี่ห้อที่แปะอยู่ข้างแก้มยางหรือเล็กกว่านิดหน่อย อาจเป็นคำหรือตัวอักษรย่อ หรือมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและการใช้งานของยางเส้นนั้นๆ เช่น รุ่น Pilot Sport Cup 2 หมายถึงยางสปอร์ตประสิทธิภาพสูงที่ผลิตมาถึงรุ่นที่สองแล้ว หรือ Pilot Super Sport หมายถึงยางสปอร์ตสำหรับรถสมรรถนะสูง ส่วนยางที่ใช้ลุยพวกยางออฟโรดมีชื่อรุ่นออกแนวผจญภัย หรือใช้ชื่อแมลงที่มีพิษร้ายเช่น ยางยี่ห้อ Pirelli รุ่น Scorpion



ตัวเลขบนแก้มยาง
อาจเป็นตัวเลขที่คุณสังเกตได้ง่ายๆ เช่น 225/40R19 เลขสามตัวแรกสุดหมายถึงความกว้างของขอบยางในส่วนที่ป่องที่สุด โดยวัดจากแก้มยางฝั่งในถึงฝั่งนอก มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ค่านี้จะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับความกว้างของกระทะล้อ หากจะวัดหาขนาดควรวัดจากล้อที่มีขนาดมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม อาจพบยาง 225 ของอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีความกว้างมากกว่า หรืออ้วนกว่ายาง 235 ของอีกยี่ห้อหนึ่ง แม้จะใส่ล้อขอบ 19 นิ้วเหมือนกันก็ตาม


เลขสองตัวถัดมา เช่น 40 หมายถึงตัวเลขสัดส่วนความสูงของแก้มยางด้านในเมื่อรับน้ำหนัก มีค่าเป็นร้อยละเท่าไรของความกว้าง


ตัวอักษร R ที่ต่อท้าย หมายถึงโครงสร้างหน้ายางแบบเรลเดียล



ตารางดัชนีน้ำหนักบรรทุก
ตัวเลขถัดไปอาจมีขนาดเล็กสังเกตได้ยาก เป็นตัวเลขบอกว่ายางเส้นนั้นรับน้ำหนักได้แค่ไหน ตัวเลขที่ใช้แทนความสามารถในการรับน้ำหนักของยาง 1 เส้นโดยเทียบหาค่าน้ำหนักจริงจากในตารางเทียบค่าที่ความดันลมมาตรฐาน ถ้าตัวเลขมากขึ้นค่าความสามารถในการรับน้ำหนักยางก็เพิ่มขึ้น เช่น ตัวเลข 93 ความสามารถในการรับน้ำหนักของยางเท่ากับ 650 กิโลกรัม ตัวเลข 101 รับน้ำหนักได้ 825 กิโลกรัม ตัวเลขระบุ 112 รับน้ำหนักได้ 1,120 กิโลกรัม


ถัดจากตัวเลขบอกค่าการรับน้ำหนักจะเป็นตัวอักษรที่กำหนดค่าความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนี้สามารถรับได้ สำหรับตัวอักษรระบุความเร็วของยางมีดังต่อไปนี้
S ความเร็วสูงสุดที่ 180 กม. / ชม.
T ความเร็วสูงสุดที่ 190 กม. / ชม.
H ความเร็วสูงสุดที่ 210 กม. / ชม.
V ความเร็วสูงสุดที่ 240 กม. / ชม.
W ความเร็วสูงสุดที่ 270 กม. / ชม.
Y ความเร็วสูงสุดที่ 300 กม. / ชม.
ZR ความเร็วสูงสุดที่ 240 กม. / ชม. ขึ้นไป


บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มักเลือกใช้ยางติดรถที่มีสปีดความเร็วสูงกว่าความเร็วสูงสุดที่รถรุ่นนั้นสามารถทำได้ เช่น ถ้า TOYOTA ALTIS 2018 ทำความเร็วได้ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้ยางที่รองรับได้ 230-240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง



ลมยางอ่อนคือต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากยางระเบิด ลมยางที่อ่อนจะทำให้ยางเกิดการยุบตัวได้ง่าย โดยเฉพาะแก้มยางที่เกิดการบิดตัวจะยิ่งทำให้ยางร้อนจัดอย่างรวดเร็ว เมื่อขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงแล้วมีลมยางอ่อนอาจจะทำให้การทรงตัวย่ำแย่หรือเกิดอาการลื่นไถลได้ง่าย ระยะของการเบรกก็จะเพิ่มมากกว่าปกติ กินน้ำมันและเสี่ยงต่อการระเบิดได้ทุกเมื่อ ลมยางอ่อนทำให้ยางสึกหรอมากขึ้น ผิวถนนที่ไม่เรียบหากขับไม่ระวังใส่ล้ออัลลอยวงโตๆ เมื่อกระแทกแรงๆ นอกจากล้อแม็กจะดุ้งแล้วยังทำให้แก้มยางฉีกขาดอีกด้วย ควรตรวจสอบแรงดันลมยางทุกๆอาทิตย์ และเติมเผื่อไว้ 3-5 ปอนด์ ให้ยางแข็งขึ้นเมื่อต้องขับรถออกทางไกลหรือบรรทุกสัมภาระ ตรวจสอบลมของยางอะไหล่และเครื่องมือที่ใช้เปลี่ยนยาง เพื่อความปลอดภัยหากยางไปแตกกลางทาง สุดท้าย ไม่ควรเสียดายเงินเมื่อถึงระยะเวลาและระยะทาง (ประมาณ 40,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี) ที่จะต้องเปลี่ยนยางใหม่ ยางที่สดใหม่ช่วยทำให้การขับมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อุบัติเหตุที่เกิดจากยางหมดสภาพนั้นมีมากต่อมากแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับตัวของคุณหรือครอบครัวเพียงแค่ไม่ยอมเปลี่ยนยางเก่าหมดอายุการใช้งานเพราะต้องการประหยัดเงิน
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า